ไม่ไหวอย่าฝืน 5 ข้อที่บ่งชี้ว่าคุณกำลังจะกลายเป็น “คนบ้างาน”

เชื่อว่าหลายคนที่ทำงานล้วนมีเป้าหมายและวางแผนความสำเร็จของชีวิตไว้ประมาณหนึ่ง เพราะการวางเป้าหมายที่ดีนั้นช่วยเป็นแรงผลักดันหรือแรงจูงใจในการทำงานให้สำเร็จ

signs workaholic

แต่ก็ยังมีบางคนที่อาจจะชอบทำงานหนัก กลางวันก็ทำงาน พอเลิกงานก็เอากลับไปนั่งทำต่อที่บ้าน วันหยุดยาวไม่ยอมออกไปไหน ไม่ไปเยี่ยมพ่อแม่ ญาติ มิตรสหาย โดยอาจจะอ้างว่า “ไม่มีเวลา ต้องทำงาน”

บทความนี้ผมเขียนขึ้นมาเพื่อให้คุณตรวจสอบสภาพกายและจิตใจตัวเองว่ากำลังเป็น “คนบ้างาน” (workaholic) หรือไม่ เพราะว่ามันกำลังส่งผลกระทบกับชีวิตคุณในแบบที่คุณไม่รู้ตัว ถ้าคุณยังทำแบบนี้

แรงจูงใจในการทำงาน (Work Motivation)

เราลองมาหาแรงจูงใจว่าอะไรทำให้คน “ชอบทำงาน” และการทำงานหนักให้ผลตอบแทนอะไรกับพวกเขาได้บ้างผมขอแบ่งเป็น 3 ส่วนดังนี้

  1. ลาภ – ได้แก่การได้รับเงินเดือน ได้โบนัส รางวัลพิเศษ ค่าล่วงเวลา ค่าโอที หรือผลตอบแทนอื่นๆ ที่ดีในแง่ของคนที่ทำงานแลกเงินเพียงอย่างเดียว
  2. ยศ – ได้แก่ การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ได้เงินเดือนมากขึ้น ทำให้มีอำนาจในหน้าที่การงาน มีบารมีผู้คนเกรงใจ รู้สึกได้รับการชื่นชมและรู้สึกเป็นคนสำคัญ ทำให้คนทำงานบางคนมีความเชื่อที่ว่า “ถ้าไม่มีเรา องค์กรจะต้องมีปัญหา” หรือ “ถ้าไม่มีเรางานจะไม่สำเร็จ”
  3. สรรเสริญ – การได้รับเชิดชูเกียรติ มีศักดิ์ศรี อย่างออกหน้าออกตา เช่น ได้รับรางวัลเป็นเจ้าหน้าที่ดีเด่น ได้รับคำชมจากเจ้าของบริษัทหรือหัวหน้า ทำให้คนเราพร้อมที่จะทำงานหนักยิ่งขึ้นจากกำลังใจเหล่านี้

ขอต้อนรับเข้าสู่วงการ “คนบ้างาน” (workaholic)

คุณทำงานเกินวันละ 10 ชั่วโมงหรือทำงานได้เยอะกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แล้วยังรู้สึกว่า “มันได้อีกเว้ย” รู้สึกต้องการทำลายสถิติ เพราะต้องการเค้นประสิทธิภาพการทำงานให้ดีมากยิ่งขึ้น

การทุ่มเท่กับงานนั้นเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ตรงกันข้ามกับการใช้เวลากับงานมันเป็นคนละเรื่องเดียวกัน เพราะผลเสียนั้นมากมายมหาศาลกว่าผลดีที่ได้รับต่างหาก

นักวิจัยของศูนย์พัฒนาการ Oxford ให้คำปรึกษาผู้มีปัญหานี้กล่าวว่า ผู้เสพติดการทำงานมักมีปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นๆ ตามมาด้วย

“หลายคนรู้สึกซึมเศร้า พวกเขาคิดว่าชีวิตออกจะว่างเปล่าและอาจมีปัญหาหลายเรื่องที่วิตกกังวล พวกเขาอาจมีปัญหาเสพติดสิ่งอื่นๆ ได้อีกในเวลาเดียวกัน”

อาการเสพติดงานอาจถูกกระตุ้นจากการที่คนเราต้องทำงานแบบหลายๆ อย่างพร้อมกัน (Multi-taking) เช่น บางบริษัทต้องการคนทำงานได้หลายอย่างพร้อมๆ กัน เช่น นักเขียน นักออกแบบ ช่างภาพ ฯลฯ

5 สิ่งที่บอกว่าคุณกำลังเป็น “คนบ้างาน”

1. คุณทุ่มเวลาให้กับงาน “นานกว่า” เพื่อนในที่ทำงาน

คุณเป็นคนรับผิดชอบงานทำงานตรงต่อเวลา บางทีก็มาเช้ากว่าคนอื่นในออฟฟิศ มิหนำซ้ำคุณยังกลับทีหลังชาวบ้านคอยปิดออฟฟิศให้แม่บ้านอีก… นี่มันสุดยอดมนุษย์เงินเดือนชัดๆ

มันบ่งชี้ได้ชัดเจนเลยว่าคุณกำลังอยากทำงานมากเกินไป เพราะคิดว่าการใช้เวลามากเท่าไรก็จะยิ่งได้ผลงานที่ดีและจำนวนงานที่มากกว่าคนอื่น แต่นักวิจัยมหาวิทยาลัย North Carolina สหรัฐอเมริกา กลับพบว่า การพักผ่อนและดูแลตัวเองให้มากขึ้นต่างหาก จะทำให้คุณผลิตงานที่มีคุณภาพและปริมาณที่มากขึ้น​ โดยใช้ “เวลาที่น้อยลง”

2. ได้แต่คิดถึงอยู่อย่างนั้น “ที่ทำงาน”

คุณคิดถึงใครมากกว่าแฟน พ่อแม่ พี่ หรือที่ทำงาน โดยปกติคนทั่วไปแล้วจะคิดถึงครอบครัวครับ แม้ว่าจะมีหลายคนอ้างว่าทำงานหนักก็เพื่อให้ครอบครัวสบายมันไม่ได้ผิดเลย

แต่การที่คุณคิดถึงงานก่อนสิ่งอื่น คุณกำลังจะกลายเป็นคนบ้างานในไม่ช้า เพราะแม้คุณจะทำงานหนักเพื่อครอบครัวที่คุณรักมากแค่ไหน แต่งานนั้นให้ได้แต่เงินเพื่อไปจุนเจือครอบครัว แต่ไม่ได้ให้ความรู้สึกแก่ครอบครัวเลย

คุณควรไปออกเดทกับแฟนบ้าง ไปสังสรรค์กับเพื่อน ไปเที่ยวน้ำตก ภูเขาทะเลกับครอบครัว การเอาแต่หมกหมุ่นกับงานทำให้คุณเกิดความเครียดและในที่สุดตัวคุณจะเริ่มรู้สึกหมดไฟ (Burnout) ในการทำงานจนส่งผลเสียกับตำแหน่งหน้าที่การงาน

3. ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างเริ่มมีปัญหา

เพื่อนสนิท ครอบครัว คุณเริ่มรู้สึกว่ามีเวลาให้พวกเขาน้อยลงหรือเปล่า ถ้าเพื่อนหรือแฟนคุณโทรมาบ่น หรือส่งข้อความมาบอกว่า “เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เจอกันเลยนะ สบายดีไหม” คำนี้หมายถึงความน้อยใจที่อีกฝ่ายกำลังมีต่อคุณ

ถ้าคุณรู้สึกตัวแล้วละก็อย่านิ่งดูดายครับ อย่าปล่อยให้สภาวะแบบนี้เกิดขึ้นในชีวิตคนรอบข้าง ยิ่งถ้าเป็นคนมีครอบครัวแล้วด้วยยิ่งไม่ควรทำ ผลสำรวจพบว่ากว่า 40 เปอร์เซ็นของคนทำงาน ที่แต่งงานแล้วเกิดการหย่าร้าง เพราะ “ไม่มีเวลาให้กัน” ไม่ดูแลเอาใจใส่กัน ไม่ใช่เรื่องของความรักแม้แต่นิดเลยนะครับ

4. ป่วยแบบไม่มีสาเหตุ

เจ็บหลัง ปวดเอว เป็นหวัดบ่อยๆ ภูมิแพ้แบบไม่มีสาเหตุ สัญญานของร่างกายคุณเริ่มบอกว่า “ไม่ไหวแล้วนะ” การทำงานที่หนักหน่วงสะสมมาเป็นเวลานาน เนื่องจากคุณบ้างานแต่ไม่ใช่เพราะว่างานมันหนักนะ แต่คุณไม่ยอมพักจากการทำงานต่างหาก

การทำงานโดยนั่งเป็นเวลานานที่มากกว่า 5-6 ชั่วโมงต่อครั้ง ให้ผลเสียเทียบเท่าการสูบบุหรี่และเสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากขึ้น โดยสถาบันวิจัยจากออสเตรเลียพบว่า คนวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25 ปี นั่งดูทีวีมากกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไปจะมีโอกาสตายเร็วขึ้น 21.8 นาที ในขณะที่คนสูบบุหรี่ 1 มวนจะมีโอกาสตายเร็วขึ้น 11 นาที

5. ยึดติดกับคุณค่าของตัวเองในที่ทำงาน

คนส่วนใหญ่มักไม่พึงพอใจกับงานตัวเอง แต่บางส่วนก็ยอมปล่อยผ่าน แต่สำหรับคนที่ไม่ยอมปล่อยให้ผ่านไปง่ายๆ ถ้าไม่สมบูรณ์แบบนี่สิครับน่าห่วง การสร้างความกดดันให้กับตัวเองไม่ได้หมายความว่าคุณค่าคุณจะมากขึ้นหรือน้อยลง

อย่าให้คำว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” มาเป็นตัวชี้วัดการทำงานมากเกินไป จริงๆ แล้ว การทำงานแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย คอยช่วยเหลือหรือเบาแรงผู้อื่นในบางสิ่งที่เขาทำไม่ได้ ก็มากเพียงพอแล้วที่จะสร้างคุณค่าให้กับคุณและสังคมในที่ทำงานของคุณ (แต่งานคุณต้องเสร็จนะ)

คุณจึงควรต้องปล่อยวางความสมบูรณ์แบบในที่ทำงาน (perfectionism) และเปลี่ยนให้มันเป็นแค่ช่วงเวลาดีๆ ช่วงหนึ่งในการทำงานให้มีความสุขก็แค่เท่านั้นครับ ว่าแล้วเลิกงานก็กลับบ้านกันเถอะ!!

สรุป : การใช้ชีวิตที่ทุ่มเทกับหน้าที่การงานเป็นเรื่องดี แต่อย่าลืมหาตรงกลางที่เป็นจุดสมดุลของชีวิต ที่จะช่วยให้คุณทำงานและใช้ชีวิตกับครอบครัวอย่างมีความสุข ลองอ่าน การทำงานแบบ Multitasking

พี่หมีฮาร์ดเซลล์, Adisorn K.

source : bbc news

สอบถาม