ยิ่งสูงยิ่งหนาว..คุณเป็น Impostor syndrome อยู่หรือเปล่า?
อาการ Impostor syndrome หรือเข้าใจง่ายๆ ว่าเป็นอาการของความกลัวว่าตัวเองจะไม่เก่ง เก่งไม่พอกดดันตัวเองมากจนเกิดสภาวะทางจิตใจไม่มั่นคง แม้จะประสบความสำเร็จแล้วก็ตาม
ทุกคนน่าจะมีคนใกล้ตัว ที่ดูเป็นคนประสบความสำเร็จในชีวิตจำนวนไม่น้อย แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รู้สึกยินดีหรือภูมิใจกับสิ่งเหล่านั้น แถมยังมองว่าชีวิตตัวเองยังไม่คู่ควรกับสิ่งนั้นหรือหากว่าตัวคุณกำลังรู้สึกแบบนั้น มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง รู้สึกด้อยค่ากว่าคนอื่น จนมันมีผลกับชีวิตคุณนั่นเพราะคุณอาจกำลังเป็น Impostor syndrome อยู่ก็ได้
Impostor syndrome คืออะไร?
Imposter syndrome คืออาการชนิดหนึ่งที่ทำให้สภาวะทางจิตใจไม่มั่นคง ไม่มั่นใจในความสำเร็จของตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่ดีพอหรือไม่เก่งพอ และอาจนำไปสู่อาการของโรคซึมเศร้าได้ ยิ่งอยู่ในสภาพสังคมที่มีความกดดันสูง มีหน้าที่การงานในตำแหน่งใหญ่ต้องรับผิดชอบสูง ยิ่งมีโอกาสทำให้เกิดสภาวะเช่นนี้ หากกำลังกังวลหรือไม่แน่ใจว่าตัวคุณเป็นหรือไม่ คุณควรไปพบจิตแพทย์ส่วนตัวดูเพื่อเช็กอาการ
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็น Impostor syndrome?
โดยปกติเราทุกคนมีโอกาสเป็นได้ แต่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่มีความกดดันเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดอาการได้ และมีโอกาสเกิดสูงในกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จในระดับสูง ผู้บริหาร CEO ที่มีชื่อเสียงระดับโลก นักวิชาการหรือแม้แต่เด็กๆ ก็ยังพบได้
ทดสอบว่าคุณเป็น Introvert or Extrovert
ตรวจสอบตัวเองว่าเป็น Impostor syndrome หรือไม่?
1. คุณติดนิสัยชอบความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist)
เป็นคนรักความสมบูรณ์แบบ ไม่ยอมอะไรง่ายๆ (Perfectionist) มาตรฐานสูง ไม่ว่าจะทำงานหรือทำสิ่งใด จนบางทีรู้สึกไม่เชื่อมั่นในความสามารถตัวเอง ย้ำคิดย้ำทำ บางครั้งกระทบกับงานทำให้คนในที่ทำงานไม่อยากร่วมงานด้วย
2. ทุกสิ่งไม่เคยดีพอสำหรับคุณ
กดดันตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าใครจะชื่นชมผลงานที่ปรากฎออกมา (แม้จะมีกระแสที่ดี) คุณก็จะคิดไปเองว่ามันยังดีกว่านี้ได้อีก ยังไม่พอสักที
3. เป็นคนเรียนรู้ไว ใส่ใจกับทุกเรื่อง เป็นคนไฮเปอร์ (Hyperactivity)
อยู่ไม่ได้กับการที่จะไม่รู้สักเรื่อง กลัวตกข่าวตกเทรนด์ เกาะติดกระแสต้องการข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ อยากรู้มากกว่าผู้อื่นไวกว่าผู้อื่นเสมอ
4. ชอบฉายเดี่ยว (One man show)
คุณอาจจะทำงานได้ดี มีทีมงานที่ดีแต่คุณไม่เคยพอใจและชอบทำทุกสิ่งทุกอย่างคนเดียว ไม่ชอบพึ่งพาใคร เพราะรู้สึกว่าคนอื่นทำให้ไม่ถูกใจและกลัวถูกมองว่าเป็นคนไม่เก่ง
วิธีจัดการกับ Impostor syndrome
1. ยอมรับให้ได้ว่าตัวเองมีอาการนี้
หลังจากคุณตรวจเช็กอาการแล้วพบว่ากำลังอยู่ในสภาวะ Impostor syndrome ก่อนอื่นต้องยอมรับตัวเองให้ได้ว่าเราเป็น และวางแผนอนาคตของชีวิต เช่น คุณมองเห็นตัวเองใน 5 – 10 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร จำไว้เสมอว่าคุณไม่ต้องเข้มงวดกับตัวเองมากไป ทุกสิ่งทุกอย่างไม่จำเป็นต้องได้มาภายในคราวเดียว ทุกอย่างต้องให้เวลาและใช้เวลาในการค้นหาหรือได้มา
2. รักตัวเอง มองคุณค่าในตัวเอง
ถ้าไม่รู้ว่ารักตัวเองต้องทำอย่างไร ให้คุณลองเขียนไดอารี่และบันทึกเรื่องราวของตัวเองทุกวัน สิ่งใดที่ทำลงไปให้ตัวเองแล้วรู้สึกดีบ้าง สิ่งใดทำให้ผู้อื่นแล้วเขาชื่นชมเรา ทำให้เราเห็นสิ่งที่มีคุณค่าที่เกิดขึ้นตรงหน้าในแต่ละวัน
3. เปลี่ยนวิธีคิดมองโลกในแง่ดี
บางครั้งความผิดพลาดไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ให้พยายามเข้าใจว่าทุกสิ่งย่อมมีดีมีแย่ในตัวมัน แม้แต่คุณเดินลงบันไดบางทียังสะดุดขาตัวเองได้เลย ใครๆ ก็ผิดพลาดได้ทั้งนั้น แล้วทำไมคุณถึงจะไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองบ้างละ เมื่อผิดพลาดแล้วให้มองหาวิธีแก้ไขและรีบจัดการให้ได้ข้ามผ่านปัญหาให้ได้เร็วที่สุด
4. เปิดใจ เปิดโอกาสให้ผู้อื่น
เมื่อเรามองทุกอย่างดีขึ้น ก็ต้องเปิดใจให้กับตัวเองและเปิดโอกาสให้กับผู้อื่น เมื่อต้องการความช่วยเหลือก็อย่าปิดกั้นตัวเอง หรือผู้อื่นต้องการความช่วยเหลือก็เข้าไปช่วยเท่าที่ทำได้ หาโอกาสพูดคุยกับคนอื่น แลกเปลี่ยนข้อมูลหน้าที่การงาน ไลฟ์สไตล์ ชวนไปทานข้าวกลางวัน อาจทำให้คุณมองเพื่อนร่วมงานในมุมใหม่ๆ ได้อีกด้วย
5. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์
การมีที่ปรึกษาที่ดีช่วยให้มนุษย์ทุกคนตัดสินใจได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์หากคุณมีที่ปรึกษาอยู่ใกล้ตัว หรือผู้เชี่ยวชาญก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะการพูดคุยนั้นทำให้เราสบายใจขึ้นได้และยังมีข้อมูลวิธีการแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวคุณได้อยู่หมัด ยกตัวอย่างในต่างประเทศเราจะพบว่าเกือบทุกครอบครัวจะมีแพทย์ประจำเสมอ
การมีผู้เชี่ยวชาญ หรือการไปพบจิตแพทย์ไม่ได้แปลว่าคุณผิดปกติแต่อย่างใด ลองเปลี่ยนทัศนะคติดูแล้วชีวิตคุณจะมีความสุขมากขึ้นครับ
ที่มา : apa.org
เจ้าของแฟนเพจพี่หมีฮาร์ดเซลล์ | ครีเอทีฟไดเร็คเตอร์เอเจนซี่เล็กๆ | SEO Specialist | ที่ปรึกษาการตลาดออนไลน์ | รักการถ่ายภาพ