Self-Awareness คือ เครื่องมือสร้างความสุขให้ชีวิตคุณ

เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนนั้นอยากมีความสุข แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าความสุขของตัวเองนั้นคืออะไร การมีเงิน มีบ้าน ทำธุรกิจหรือการประสบความสำเร็จในชีวิตอาจยังไม่ใช่คำตอบที่เรากำลังตามหาอยู่ก็เป็นได้ แต่คุณเคยตระหนักถึงความสุข การรับรู้ตัวตนและการมีอยู่ของมันในจิตคุณหรือไม่ บทความนี้จะช่วยอธิบายสิ่งนั้นได้ นั่นคือ Self-Awareness นั้นเองครับ

self awarenees คือ

Self-Awareness คืออะไร

self-awareness อธิบายแบบเข้าใจง่ายคือ การตระหนักหรือรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น การมีอยู่และการจดจำของสิ่งเหล่านั้น ซึ่งในบริบทนี้หมายถึง “ตัวเอง” (self) โดยเกี่ยวกับการตระหนักรู้ถึงภาวะทางอารมณ์ ความนึกคิดความสามารถและประสบการณ์

หลายคนอาจสับสนกับจิตใต้สำนึก (Consciousness) เพราะจิตใต้สำนึกนั้นเป็นการรับรู้ทางสภาพแวดล้อมภายนอก ประสบการณ์ของวิถีชีวิตเรา แต่การตระหนักรู้ (Self-Awareness) เป็นการรับรู้สิ่งใดที่เป็นความรู้สึก แรงจูงใจ เหตุผลของความต้องการมากกว่า

ทฤษฎีเกี่ยวกับ Self-Awareness ได้มีนักจิตวิทยา Shelly Duval และ Robert Wicklund’s ได้ศึกษาถึงการตระหนักรู้ว่า เมื่อใดที่เรามุ่งความสนใจไปที่ตัวเอง เราจะสามารถประเมิน เปรียบเทียบพฤติกรรมกับคุณค่าของตัวเอง กล่าวคือ เราจะมีความรู้สึกเป็นกลางเพื่อประเมินคุณค่าในตัวเอง

คุณเป็น Impostor syndrome หรือเปล่า

ทำไมคนเราจึงต้องมี Self-Awareness

การตระหนักรู้นั้นมีความจำเป็นในชีวิตของเราทุกคนในสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งที่ทำงาน ในครอบครัว การตระหนักถึงปัจจัยภายในตัวเราเองนั้นทำให้รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง ทำให้เราสามารถจับอารมณ์ของตัวเองและความคิดของตัวเอง ซึ่งทำให้เราสามารถบริหารความคิด อารมณ์และพฤติกรรมของตัวเองได้

ตัวอย่างเช่น เราออกไปทำงานในสภาพแวดล้อมที่รถติด คนเบียดเสียด หรือโดนคนแซงคิวระหว่างต่อคิวขึ้นรถไฟฟ้า เมื่อมาถึงที่ทำงานหากเป็นคนที่ไม่เคยบริหารตัวเองหรือตระหนักถึงความรู้สึกของตัวเอง อาจจะแสดงความโมโห หงุดหงิด พาลไปว่าเพื่อนร่วมงาน ด่าลูกน้องโดยที่ไม่รู้ตัว โดยแยกไม่ออกว่าสิ่งที่เราโมโหเกิดจากงานที่ทำหรือที่เราโดนแซงคิวกันแน่

การตระหนักรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญทั้งในเรื่องความสัมพันธ์และประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะมันช่วยให้เราแยกแยะได้ว่า “เรากำลังทำอะไรอยู่”

ประโยชน์ของ Self-Awareness

การสร้างความตระหนักรู้ในตัวเอง เมื่อเราหันมาใส่ใจทำความรู้จักตัวเองมากขึ้นจะสร้างความแตกต่างและปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตและการทำงานของคุณได้โดยแบ่งเป็น 4 ส่วน

1. ทำให้รู้ว่าตัวเองมีนิสัยอย่างไร

การรู้นิสัยตัวเองว่าเป็นเราเป็นคนอย่างไร ชอบทำอะไร การทำสิ่งนี้อาจจำเป็นต้องสังเกตตัวเองและรับรู้ตัวตนของตนเองเป็นระยะเวลาหนึ่ง คุณจะสามารถรู้จักนิสัยตัวเองจากการมองลักษณะที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลาที่เริ่มสังเกต

2. ค้นพบเป้าหมายในชีวิต

เป้าหมายในชีวิตไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนสามารถค้นพบได้ในระยะเวลาอันสั้น ผู้เขียนเองก็เริ่มค้นพบเป้าหมายในชีวิตหลังอายุ 30+ เพราะการค้นพบเป้าหมายในชีวิตอาจต้องใช้การพิจารณาและไตร่ตรองสิ่งที่ทำอยู่หรือสิ่งที่ทำมานานว่า สิ่งนั้นหล่อหลอมให้ตัวคุณเองเป็นแบบใด มันเปลี่ยนตัวคุณไปหรือไม่และคุณให้คุณค่ากับสิ่งนั้นไหม

3. รู้ข้อดี ข้อเสียในตัวเอง

ทำให้เรารู้ข้อดี ข้อเสียในตัวเองจากการรับฟัง ความคิดเห็นของผู้อื่นแล้วนำประเมินและปรับปรุง พัฒนาจุดด้อยให้ดีขึ้นและพัฒนาจุดเด่นที่มีอยู่แล้วให้แข็งแกร่ง สำหรับคนทำงานถ้าเราสังเกตจะพบว่า หลายองค์กรต้องการคนที่มี Self-Awareness เพราะว่าเป็นบุคคลที่สามารถปรับตัวและแก้ไขตัวเองได้

ซึ่งหากคุณกำลังเป็นคนที่ไม่ค่อยจะยอมรับฟังแล้วละก็ อาจหมายถึงว่าคุณมี Self-Awareness ค่อนข้างต่ำและนั่นคือคำตอบที่ว่าทำไมเพื่อนร่วมงานถึงไม่ค่อยรับฟังหรือไม่ให้เกียรติคุณ นั่นเพราะว่าคุณก็ไม่ค่อยรับฟังเสียงของคนอื่นเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้จึงมีผลต่อการทำงานเป็นทีม

4. รู้จักตัวเอง

รู้จักตัวเองในทุกๆ ด้านและทุกมิติ ทั้งความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม ช่วยให้เข้าใจและเรียนรู้บุคคลอื่น การมีสติจะช่วยให้เราควบคุมตนเองและแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างเหมาะสม หรืออาจจะเรียกว่าระดับสติปัญญาทางอารมณ์ (Emotional Intelligent) ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดีขึ้น

ลองฟัง Self-Esteem เครื่องมือและเทคนิคเพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง

4 วิธีเพิ่ม Self-Awareness

  1. ฝึกเจริญสติสมาธิ (mindfulness) การเจริญสติและสมาธิช่วยให้เราตระหนักรู้ถึงตนเอง รับรู้อย่างเป็นกลางกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นภายในร่างกายและจิตใจ เมื่อเราคิดในขณะที่มีสมาธิจะทำให้เห็นตัวตนชัดแจ้งและช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้น
  2. การจดบันทึก (Journal) ด้วยการสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น จดบันทึกความคิดของตัวเอง หน้าที่ที่ตัวเองต้องทำในแต่ละวัน การบันทึกแบบนี้ไม่ใช่การเขียนบันทึกประจำวันแบบเขียนไดอารี่ว่าตัวเองทำอะไรบ้างในวันนี้ แต่เป็นการเขียนเพื่อค้นหาว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่นั่นช่วยอะไรเราบ้าง คิดอะไรออกบ้าง
  3. ฝึกการรับรู้ รับฟัง (deep-listening) ไม่ว่าจะอยู่ในที่ทำงานหรือที่บ้าน คุณสามารถพูดคุยกับผู้คนในออฟฟิศ เพื่อนร่วมงานหรือแม้แต่คนในครอบครัว การรับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจและลึกซึ้ง ช่วยให้คุณตระหนักถึงความสำคัญของบุคคลที่อยู่ตรงหน้าได้อีกด้วย
  4. ฝึกสะท้อนความคิด (reflection) ด้วยการกลับไปมองสิ่งที่ทำไปแล้ววิเคราะห์ว่าสิ่งที่เราทำไปในสถานการณ์นั้นๆ คุณทำผิดพลาดหรือไม่ บรรลุเป้าหมายที่ทำไปหรือเปล่า การตระหนักและสะท้อนสิ่งเหล่านี้ทำให้คุณเห็นวิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ หรือบางสิ่งที่มองข้ามไป ซึ่งแตกต่างจากการคิดถึงเรื่องที่ผ่านมาที่แก้ไขไม่ได้

บทสรุปของ Self-Awareness คือ การตระหนักรู้ถึงตนเอง เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนพฤติกรรม ความรู้สึกของตน ให้รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ และจะให้คุณค่ากับมันได้อย่างไรนั่นเอง

ที่มา : Harvard Business Review, Positivepsychology.com

Similar Posts